Sharing

กีวีผลไม้ต่างถิ่นที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

กีวี เป็นผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่มีขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป สายพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกภายในบ้านเราจะเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์สีเขียว Actinidia deliciosa cv Hayward ซึ่งผลจะมีลักษณะสีน้ำตาลมีขน เนื้อในมีสีเชียวให้ความเปรี้ยวมากกว่าสายพันธุ์สีทอง  ส่วนกีวีสายพันธุ์สีทองนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia chinensis โดยบริษัทผู้พัฒนาสายพันธุ์จดทะเบียนชื่อการค้าว่า Zespri® Sungold ซึ่งจะมีขนน้อยกว่าสายพันธุ์สีเขียว เนื้อในสีเหลืองมีความหวานมากกว่ากีวีสีเขียว

 

คุณค่าโภชนาการ

            กีวีเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยประกอบไปด้วยวิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม เป็นต้น ความแตกต่างของระดับวิตามินนั้นขึ้นกับแหล่งที่ปลูก คุณภาพดินและน้ำ นอกจากนี้กีวีสีทองและสีเขียวก็ยังให้วิตามินบางชนิดในปริมาณที่แตกต่างกัน เช่นพบว่ากีวีสีทองมีวิตามินซี 161.3 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ในขณะที่กีวีสีเขียวมีปริมาณวิตามินซี 92.7 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งคนเรามีความต้องการปริมาณวิตามินซีอยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนกีวีสีเขียวจะมี Lutein + Zeaxanthin อยู่ที่ 122 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ในขณะที่ดีวีสีทองมีปริมาณ Lutein + Zeaxanthin อยู่ที่ 24 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม จะเห็นว่าต่างสีกันประโยชน์ก็มีต่างกันด้วย

            ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องระมัดระวังโพแทสเซียมอาจต้องอดใจกับกีวีไว้หน่อยนะครับ เพราะกีวีทั้งสองสีมีโพแทสเซียมสูงทั้งคู่ โดยมีโพแทสเซียมอยู่ประมาณ 315 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม แต่สำหรับคนปกติและคนที่มีความดันโลหิตสูงกีวีอาจเป็นตัวเลือกที่ดีในการลดความดันโลหิตได้จากโพแทสเซียมที่มีอยู่ในกีวี และสารพฤกษเคมีอื่นๆ ซึ่งมีรายงานการวิจัยถึงการเทียบระหว่างการรับประทานแอปเปิ้ลวันละ 1 ผลกับกีวีวันละ 3 ผล พบว่ากีวีมีผลลดความดันโลหิตได้ดีกว่าแอปเปิ้ล และยังมีการทดสอบการรับประทานดีวีวันละ 3 ผลช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่สูบบุหรี่ได้ ซึ่งทำให้สันนิษฐานว่ากีวีมีผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือดทั้งในคนปกติและคนที่สัมผัสฝุ่นควันมลภาวะรวมไปถึงการสูบบุหรี่ด้วย

            สำหรับผู้ที่มีปัญหาการย่อยอาหาร ข่าวดีคือในกีวีมีสารที่ชื่อว่า Actinidin อยู่โดยพบว่าสารดังกล่าวช่วยในการย่อยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และ gluten ได้ดังนั้นการรับประทานดีวีหลังทานเนื้อสัตว์ก็สามารถช่วยย่อยได้ และกีวียังถือว่าเป็นผลไม้ Low FODMAP คือไม่ก่อให้เกิดการหมักจนเกิดแกสในทางเดินอาหารได้แบบผลไม้บางชนิด แต่ต้องระวังในคนที่มีแผลในกระเพาะอาหารความเป็นกรดของกีวีก็อาจจะระคายเคืองทำให้มีผลรบกวนระบบทางเดินอาหารในคนที่มีแผลหรือการอักเสบในทางเดินอาหารได้เช่นกัน

ข้อควรระวังของการรับประทาน

            กีวีมีประโยชน์เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหาร แต่สำหรับในบางคนก็อาจพบการระคายเคืองทางเดินอาหารจากความเป็นกรดและรสเปรี้ยวของกีวีได้ รวมไปถึงสามารถพบอาการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์จากการทานกีวี เช่นผื่นขึ้น คันบริเวณริมฝีปาก  คลื่นไส้อาเจียน หายใจลำบาก คันคอ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่แพ้กีวีมักพบการเกิดปฏิกิริยาข้ามไปยังสารอื่นได้เช่นแพ้ Latex, อะโวคาโด, ข้าวสาลี, ลูกฟิกซ์ เป็นต้น และเคยมีรายงานเรื่องของการแข็งตัวของเลือดผิดปกติเช่น การเกิดภาวะเลือดไหลได้ง่ายจากการรับประทานกีวี หากผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่ออาการเลือดไหลผิดปกติดังกล่าวควรระมัดระวังการทานกีวีในจำนวนมาก

730 1

บทความที่เกี่ยวข้อง